วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

บทความ Internet ห้องเรียนไร้ขีดจำกัดของนักเรียนชนบท



เรื่อง  อินเทอร์เน็ต ห้องเรียนไร้ขีดจำกัดของนักเรียนชนบ

โดย
นายบุญช่วย   สายราม

เทคโนโลยีสารสนเทศ ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการพัฒนาองค์กร และสังคมในทุกๆ ส่วน อย่างที่ไม่อาจจะปฏิเสธได้ นับวันเทคโนโลยีดังกล่าว ก็ยิ่งขยับเข้ามา ใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกขณะ

การพัฒนาทางการศึกษาในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ทั้งในรูปแบบและขอบเขตของการศึกษาภายใต้การปฏิรูปทางการศึกษาตามเจตนารมณ์ของ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ปี พ.ศ.2542 และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศได้เข้ามามีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในการพัฒนาการศึกษาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 'อินเทอร์เน็ตที่ช่วยขยายแหล่งความรู้นั้นให้กระจายไปยังเยาวชนนักเรียนนักศึกษา โดยสามารถเข้าไปค้นคว้าด้วยตัวเองอย่างไร้ขีดจำกัด และขยายโอกาสการเรียนรู้ให้กระจายไปยังกลุ่มนักเรียนที่อยู่ในภูมิภาคห่างไกลด้วย

มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ระบุว่า การศึกษาหมายถึง
กระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคม โดยการถ่ายทอดความรู้ การฝึกอบรม การสืบสานทางวัฒนธรรม การสร้างจรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อมสังคม การเรียนรู้ และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างผสานระหว่างการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต อินเทอร์เน็ตจึงเป็นขุมความรู้ปริมาณมหาศาล และเป็นเครื่องมือสื่อสารสืบค้นที่สะดวกรวดเร็วและไร้พรมแดน สามารถเอื้อให้เกิดการเรียนรู้จากทุกที่ไม่จำกัดแค่เพียงในห้องเรียน หรือในเวลาเรียนเท่านั้น จึงเป็นการส่งเสริมให้เกิดการศึกษาทั้งในและนอกระบบ และตามอัธยาศัย ที่สำคัญยังเปิดกว้างสำหรับทุกคนที่ต้องการศึกษาหาความรู้ ไม่ว่าจะอยู่ในวัยใดก็ตาม ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้เกิดการศึกษาพัฒนาความรู้ตลอดชีวิตสอดคล้องกับพระราชบัญญัติ อินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษา นับได้ว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างยิ่งในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างกลุ่มคนในสังคม และเป็นการเพิ่มพูนการเรียนรู้ของบรรดานักเรียนที่เตรียมพร้อมที่จะก้าวไปสู่การเป็นบุคลากรที่เปี่ยมด้วยความรู้ความสามารถ เพื่อเป็นการผลักดันประเทศไทยให้เข้าสู่สังคมแห่งปัญญาและความรู้ (Knowledge based Society) ในอนาคตข้างหน้า

สำหรับประเทศไทย การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชาชน ยังปรากฏความไม่เสมอภาคค่อนข้างชัด อาจจะสืบเนื่องมาจากข้อจำกัดทางทุนทรัพย์ ปัญหาทางด้านการสื่อสาร หรือโทรคมนาคมพื้นฐาน การขาดความรู้ความเข้าใจ หรือไม่เล็งเห็นประโยชน์ซึ่งหากปัญหาความไม่เสมอภาคในเรื่องนี้ ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที ช่องว่างของโอกาสการเรียนรู้ของคนไทย และนักเรียนจะกว้างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางด้านศึกษาเพิ่มมากยิ่งขึ้น

โครงการเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนไทย (School Net) ซึ่งริเริ่มและดำเนินการโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ด้วยความร่วมมือจากกระทรวงศึกษาธิการ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อต้องการที่ลดความไม่เสมอภาคดังกล่าว โดยการให้บริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแก่โรงเรียนหลายแห่งทั่วประเทศ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลแก่อาจารย์และนักเรียน เพื่อให้เทคโนโลยีถูกใช้เพื่อการพัฒนาการศึกษา ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาด้านอื่นๆ ต่อไป

เกษม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ประธานคณะกรรมการประสานงานการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษา กล่าวถึงนโยบายการจัดการจัดงาน มหกรรมอินเตอร์เน็ตเพื่อการศึกษาในโรงเรียน (School Net Day) ขึ้นเพื่อเป็นการส่งเสริมประชาสัมพันธ์ให้ครูอาจารย์ จากโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะนักเรียนนักศึกษา ได้เห็นถึงประโยชน์ของการนำอินเทอร์เน็ตมาใช้ในการศึกษา และปรับปรุงคุณภาพการศึกษา รวมทั้งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็น และประสบการณ์ทางด้านวิชาการซึ่งกันและกัน เพื่อเป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่แห่งเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาและพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาของไทย

นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างความทั่วถึงและเท่าเทียมทางด้านการศึกษาให้เกิดขึ้นในสังคมไทย และเป็นการยกระดับการศึกษาของเด็กไทยให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ อีกทั้งยังเป็นโครงการที่สนับสนุนการปฏิรูปการศึกษาไทยตามแนวพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ที่มุ่งเน้นให้เด็กเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ (Child Center) โดยมีครูอาจารย์คอยให้คำแนะนำ และสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning) เป็นการพัฒนาบุคลากรไทยให้เป็นบุคคลที่มีความสามารถและศักยภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจไทยให้เจริญก้าวหน้าต่อไปในอนาคต แต่ถ้าในเวลาที่เท่ากันเรากลับทำในสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ เช่น การหาความบันเทิงจากอินเทอร์เน็ตมากเกินไป หรือดูรูปลามกอนาจาร นั่นคือ โทษจากการใช้อินเทอร์เน็ตที่ผิดวัตถุประสงค์ ส่วนผลที่ได้รับ ถ้าในระยะเวลาที่เท่ากันเราใช้อินเทอร์เน็ตในการค้นหาข้อมูลเพื่อการศึกษา หรือเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ที่มีประโยชน์ กับเรื่องที่ไร้สาระ ลองคิดดูว่า อย่างไหนจะคุ้มค่ามากกว่ากัน บางคนยังไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าคำว่า 'เวบไซต์หมายถึงอะไร หากโครงการดังกล่าวสามารถขยายไปสู่โรงเรียนต่างๆ โดยเฉพาะในชนบทได้ ก็จะเป็นการเปิดหน้าใหม่ให้กับการศึกษาไทยได้เลยทีเดียว หากโครงการนี้สามารถดำเนินได้รวดเร็ว และครบร้อยเปอร์เซ็นต์ทุกโรงเรียนทั่วประเทศเมื่อไหร่ เมื่อนั้นเราก็อาจจะสามารถบอกลาการศึกษาของเด็กไทยแบบเก่าที่เรียนแบบท่องจำ หรือเรียนแบบนกแก้วนกขุนทองเสียที

ในระยะหลายปีที่ผ่านมาการเปลี่ยนแปลงการปฏิรูปการศึกษา ทั้งด้านหลักสูตร และกระบวนการเรียนรู้ ของกระทรวงศึกษาธิการ มีจุดประสงค์ เพื่อให้เยาวชนไทย ได้พัฒนาตัวเอง เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่น ได้อย่างมีความสุข การปฏิรูปการศึกษาเบื้องต้นตั้งแต่ระดับประถม ต้องการให้เยาวชนคนไทยมีระบบความคิดที่มั่นคงในอนาคต ปัจจุบันโลกแห่งการเรียนรู้เปิดกว้างในการแสวงหาความรู้ใหม่ๆ ทั้งด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ รวมถึงความรู้ด้านอื่นๆ เป็นอีกทางเลือกของผู้เรียนสามารถค้นคว้าจากฐานข้อมูลที่ทันสมัย

การเรียนรู้แบบออนไลน์หรือ อี -เลิร์นนิ่ง เป็นระบบการเรียนรู้ที่เข้ากับยุคสมัยการเติบโตของเทคโนโลยี ซึ่งระบบการเรียนรู้ดังกล่าวเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก ซึ่งเรียกการเรียนรู้แบบนี้ว่า การเรียนรู้แบบ ออนไลน์ (e - Learning) ซึ่งผู้เรียนจะได้พัฒนาความรู้ ความสามารถ ด้วยการศึกษาด้วยตนเอง เพื่อให้เป็นคนที่เหมาะสมกับการทำงานในตำแหน่งต่างๆ หรือเพิ่มโอกาสในการรับตำแหน่งที่สูงขึ้น และสามารถเรียนได้ในช่วงเวลาว่างหลังเลิกงานหรือในวันหยุด แม้กระทั่งการอยู่ร่วมกับครอบครัวที่บ้าน ก็สามารถประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปยังสถานศึกษาที่เปิดสอนหลังเลิกงาน หรือเลิกเรียนเราก็สามารถพัฒนาตนเองได้ และที่สำคัญเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระตุ้นหน่วยงานภาครัฐบาลและธุรกิจเอกชน ได้เพิ่มการลงทุนทางด้านการศึกษาและฝึกอบรมแก่องค์กรให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้แก่ทรัพยากรบุคคลของประเทศ และเป็นแหล่งรวบรวมความรู้ทางวิชาการ ภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยโรงเรียนและมหาวิทยาลัย และสถาบันต่างๆ ทั่วประเทศ สามารถพัฒนาเป็นบทเรียนออนไลน์เผยแพร่ขยายความรู้ออกไปสู่สาธารณชน

การศึกษาแบบ e - Learning มาจากคำว่า Electronic Learning ซึ่งก็หมายถึงการศึกษาผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์อินเทอร์เน็ต ( Internet) หรืออินทราเน็ต (Intranet)เป็นการเรียนรู้ด้วยตัวเองแบบใหม่ที่จัดการศึกษาในลักษณะสถานศึกษาเสมือน (สถาบันที่จัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ โดยอาศัยการติดต่อสื่อสารและเทคโนโลยีที่ทันสมัยผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต) ผู้เรียนสามารถเรียนได้จากเวบไซต์ของโครงการ (WWW.Thai2Learn.com ) ด้วยระบบแนะแนวการศึกษา ระบบลงทะเบียน บทเรียนออนไลน์ คลังข้อสอบ และการบันทึกติดตามตรวจสอบผลการเรียนอย่างใกล้ชิด ซึ่งหากผู้เรียนเกิดความสงสัยเกี่ยวกับรูปแบบ วิธีการเรียนก็สามารถติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของโครงการซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ พร้อมจะให้คำแนะนำ และตอบปัญหาต่างๆ ได้ตลอดเวลา หากเกิดความสงสัยเกี่ยวกับเนื้อหาของบทเรียนก็สามารถสอบถามได้จากอาจารย์ผู้สอนโดยตรง ผู้เรียนจะได้เรียนตามความสามารถ และความสนใจของตน โดยใช้มัลติมีเดียในการนำเสนอเนื้อหาของบทเรียน ซึ่งประกอบด้วยข้อความ รูปภาพ เสียง วิดีโอและมัลติมีเดียอื่นๆ จะถูกส่งไปยังผู้เรียนผ่าน Web Brow Ser โดยผู้เรียน ผู้สอน สามารถติดต่อ ปรึกษา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันได้ เช่นเดียวกับการเรียนในชั้นเรียนปกติ ปัจจุบันนี้คอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ตมีบทบาทกับคนไทยมากขึ้น ในโรงเรียนอนุบาลก็เริ่มมีการเปิดสอนคอมพิวเตอร์ การมีพื้นฐานการใช้คอมพิวเตอร์ที่ดี ผนวกกับค่าเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่นับวันจะมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ส่วนปัจจัยสำคัญที่จะขยายกลุ่มผู้เรียนให้มากขึ้น จนเรียกได้ว่า e - Learning มีส่วนช่วยสนับสนุนการศึกษาตลอดชีวิตของคนไทยได้

ในทัศนคติของข้าพเจ้าเห็นว่าการเรียนแบบ e-Learning จะเข้ามามีส่วนในการผสมผสานกับการเรียนในห้องเรียน เช่น นักเรียนในห้องเรียนสามารถเข้ามาค้นคว้าเพิ่มเติมความรู้ได้เอง หลังจากเลิกเรียน หรือแม้กระทั่งในวันหยุดเป็นการสร้างนิสัยรักการค้นคว้า นอกจากนี้ยังช่วยให้ผู้ที่ไม่มีโอกาสได้ศึกษาในการเรียนปกติ เช่น ผู้ที่ทำงาน ได้มีทางเลือกเพิ่มขึ้น การเปิดโอกาสทางการศึกษา ยิ่งเปิดกว้างขึ้นเท่าใด ผู้เรียนยิ่งได้รับผลประโยชน์มากขึ้นเท่านั้น อย่างไรก็ตามการเรียนในรูปแบบแบบ e - Learning ผู้เรียนต้องบังคับตัวเองเพื่อให้เข้าเรียนตามกำหนดเวลาที่ตนเองวางไว้ โดยโครงการจะมีใบรับรองผลการเรียน ซึ่งจำเป็นต่อผู้เรียนที่จะนำไปใช้ในการสมัครงาน หรือเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้น  การนำ e - Learning มาใช้ในการฝึกอบรม ควรให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายฝึกอบรมได้มีส่วนร่วมในการวางแผน และตัดสินใจในการดำเนินงานด้านอี-เลิร์นนิ่งด้วย ระบบดังกล่าว จะช่วยเพิ่มความสนใจ และประสิทธิผลของการเรียนในชั้นเรียนปกติ หรือใช้เป็นหลักสูตรปูพื้นความรู้ก่อนจะเข้าสู่ห้องเรียนได้ โดยเจ้าหน้าที่ควรได้รับคำแนะนำ และทำความเข้าใจเกี่ยวกับอุปกรณ์การเรียนการสอน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าอี-เลิร์นนิ่ง จะช่วยให้วิทยากรผู้สอนทำงานได้ง่ายขึ้น ด้วยระบบดังกล่าว สามารถนำมาประกอบการอบรมได้ ด้วยลักษณะของอี-เลิร์นนิ่ง หากฝ่ายฝึกอบรมนำไปใช้ประโยชน์ในการทำงานอย่างเต็มที่ ไม่เพียงเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ข่าวสารประชาสัมพันธ์ที่ดีด้วย

ปัจจุบันหน่วยงานทั้งของภาครัฐและเอกชน เริ่มให้ความสนใจการอบรมผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีสาขาในต่างจังหวัด เนื่องจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการอบรมได้สูง ในขณะนี้สำนักงานพัฒนาข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. ได้ให้ความสำคัญกับการฝึกอบรม และได้จัดทำหลักสูตร การวางแผนกลยุทธ์ โดยให้หน่วยงาน สวทช. เป็นผู้ผลิตหลักสูตรดังกล่าว และจะเปิดอบรมในเร็วๆ นี้ เทคโนโลยีใหม่ อี-เลิร์นนิ่ง เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ใหม่ๆ มนุษย์สามารถค้นคว้าเรื่องราวต่างๆ ได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น แต่ต้องรู้จักเลือกใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อตัวเองและสังคม

จากที่กล่าวมาทั้งหมดจึงสามารถสรุปได้ว่า แหล่งเรียนรู้ในปัจจุบันมีความหลายหลายและน่าสนใจอย่างมาก ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยสารสนเทศมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ข้อมูลข่าวสารและความรู้ต่างๆกระจายไปทั่วโลก ซึ่งผู้เรียนทุกคนที่สนใจสามารถเรียนรู้และสืบค้นองค์ความรู้ในด้านต่างๆจากแหล่งการเรียนขนาดใหญ่และเป็นห้องเรียนที่ไม่มีที่สิ้นสุด นั่นก็คือ แหล่งเรียนทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นระบบเครือข่ายที่เชื่อมโยงองค์ความรู้สาขาต่างๆมากมายไว้ให้ผู้ที่สนใจทั่วไปได้ศึกษาหาความรู้ตามความสนใจได้ทุกที่ทุกเวลาไม่มีที่สิ้นสุดซึ่งนับเป็นการเรียนรู้อย่างเนื่องตลอดชีวิตไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้สาขาใดๆก็ตาม ดังนั้น การพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้มีความทัดเทียมและมีความเสมอภาคอย่างแท้จริงในระบบการศึกษาของไทยจึงจำเป็นที่หน่วยงานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องร่วมแรง ร่วมมือ และร่วมใจพัฒนาประสิทธิภาพของระบบการเรียนรู้ออนไลน์ให้ทั่วถึงทุกท้องที่เพื่อให้ผู้เรียนไม่ว่าจะอาศัยอยู่สถานที่ไหนสามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ทางระบบอินเทอร์เน็ตได้ทุกเวลาทุกสถานที่ตามศักยภาพและตามความสนใจของแต่ละบุคคล อันจะเป็นการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของไทยให้เจริญก้าวหน้าและมีประสิทธิภาพอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าจะเป็นนักเรียนในเมืองหรือนักเรียนในชนบทห่างไกลเพื่อให้ทรัพยากรทุกท้องถิ่นของประเทศไทยเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพและมีคุณภาพชีวิตที่ดีและเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาอย่างยั่งยืนและเพื่อให้ประเทศไทยก้าวพ้นความสับสนในการกำหนดแนวทางในการจัดการศึกษาที่ไม่รู้ว่าจะเอาอย่างกันแน่และเพื่อให้ระบบการศึกษาของไทยมีเอกภาพและมีคุณภาพอย่างยั่งยืนตลอดไป

 อ้างอิง
คอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษา http://www.obec.go.th  23 พฤศจิกายน 2556